วิสัยทัศน์ผู้บริหารกับเครือข่ายอัจฉริยะ

วิสัยทัศน์ผู้บริหารกับเครือข่ายอัจฉริยะ

เทคโนโลยีเครือข่ายในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นแรงผลักดันในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน, การเล่น และการเรียนรู้ สำหรับผู้บริหารที่มองโลกในแง่ดีสักหน่อย ก็คงเห็นด้วยว่าการนำเอาเทคโนโลยีด้านเครือข่าย และสารสนเทศมาใช้งานนั้น สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน รวมไปถึงการยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรทั่วโลก ให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดช่องว่างในความเหลี่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

ในปี 2546 นี้เราจะเริ่มได้เห็นการเพิ่มขีดความสามารถ และความชาญฉลาดเข้าไปในระบบเครือข่ายอย่างมากมายและ ผลที่ตามมาก็คือ โครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารที่ได้รับการปรับปรุงในประสิทธิภาพ สำหรับการสื่อสารทั้งทางด้าน เสียง ภาพ และข้อมูลในระบบเครือข่าย หรือถ้าจะพูดให้ง่ายเข้าก็อาจจะเรียกสั้นๆ ได้ว่าเป็นระบบเครือข่ายสารสนเทศอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นระบบสารสนเทศที่ประกอบไปด้วยความคล่องตัว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถปรับแต่ง หรือเพิ่มขยายได้โดยทุกส่วนขององค์ประกอบที่ได้กล่าวมานั้น สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเชิงธุรกิจแล้วนั้น จะมีผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายขององค์กรธุรกิจ จากการที่ระบบเครือข่ายสารสนเทศได้เข้ามาผลักดันให้องค์กร ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และย่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งหมายความว่าองค์กรนั้นๆ จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ตามสภาวะการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้ย่นย่อโลกของเราให้เล็กลง อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้พบเห็นวิวัฒนาการด้านเครือข่าย และมุมมองของผู้บริหารที่มีต่อโครงสร้างเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศ ที่สามารถแยกแยะได้เป็นสี่ช่วงเวลาด้วยกัน โดยในยุคแรกนั้น องค์กรส่วนมากมักจะลงทุนในการสร้างระบบเครือข่าย โดยยึดหลักในการเลือกสรรว่าต้องเป็นของที่ดีทีสุดในตลาดเท่านั้น และบ่อยครั้งที่มักจะลงเอยด้วยการเป็นผู้ติดตั้งระบบ (System Integrators) ไปโดยปริยาย ทั้งนี้เนื่องจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ที่องค์กรได้เลือกมา ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมากในการติดตั้งเชื่อมต่อ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นมาก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ในยุคที่สอง หลังจากที่ได้มีบทเรียนจากยุคแรกว่า แนวคิดที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ดีที่สุดในตลาดนั้น จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากเมื่อนำมารวมเข้าด้วยกัน และนำไปสู่ความล่าช้า และปัญหามากมายจึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีและแนวคิด ในอันที่จะมองระบบเครือข่ายสารสนเทศโดยภาพรวม และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างครบทั้งระบบ (Eng-to-End Solution) ซึ่งจะประกอบไปด้วยสินค้าเพียง 2-3 ยี่ห้อ และในบางกรณีก็อาจจะเลือกใช้สินค้า จากเจ้าของผลิตภัณฑ์เพียงรายเดียวเลยก็มี

ส่วนในยุคที่สาม สำหรับวิวัฒนาการด้านโครงสร้างระบบเครือข่ายโดยภาพรวมนั้น ได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง โดยเป็นผลสืบเนื่องจากวิวัฒนาการในสองขั้นแรก ที่ทำให้มีการสร้างระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ซึ่งได้นำมาซึ่งโครงสร้างเครือข่าย ที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน หรือที่เรียกกันว่า “Network of Networks” โดยจะ มีการเชื่อมต่อจากโครงข่ายผู้ให้บริการ เข้าสู่โครงข่ายขององค์กร และอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ตลอดจนระบบเคเบิล และเทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดโครงข่ายสื่อสารที่รวมทุกระบบเข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยผู้บริหารสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่า จะเลือกใช้โครงสร้างของระบบใดๆ ก็ได้ในการเชื่อมต่อและนำมาใช้งาน

และแล้วก็มาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่สี่ของวิวัฒนาการด้านเครือข่าย ที่จะมีการเพิ่มขีดความสามารถ และความชาญฉลาดเข้าไปในระบบเครือข่าย โดยได้รวมการสื่อสารทั้งภาพ เสียงและข้อมูลเข้าไว้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการสื่อสารหลายๆ อย่างในระบบเดียวกันได้ จึงทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องใช้ระบบที่แยกจากกันซึ่งกว่า 90 เปอร์เซนต์นั้น จะประกอบไปด้วยสองระบบคือ ระบบโทรศัพท์ที่รองรับการสื่อสารด้านเสียง และระบบสื่อสารข้อมูล โดยที่องค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นสองเท่า ไปกับการสร้างและดูแลรักษาระบบต่างๆ ที่แยกจากกัน ตลอดจนบุคลากรที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่สองกลุ่มในการดูแล และบำรุงรักษาระบบ

ทีนี้ถ้าลองหันมาดูความจำเป็นในด้านการบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจกันดูบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ หรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ข้อมูลต่างๆ ขององค์กรมีความสำคัญอย่างมาก และถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด สำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารและองค์กรที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ จากการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ชาญฉลาด ในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะได้พบกับความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสให้กับองค์กร ให้มีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ ในยุคเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ ที่มีการแข่งขันกันสูง และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยมากแล้ววิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็มักจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลกำไรและ รายได้ให้กับองค์กร ในขณะที่ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ซึ่งโดยมากก็จะพยายามลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจากโจทย์ที่ได้มาในขั้นต้นนี้ ระบบเครือข่ายสารสนเทศ จะมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้พนักงานในทุกระดับชั้น สามารถแปลงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติได้ อาทิเช่น การนำเอาระบบเว็บแอพพิเคชันเข้ามาใช้งานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบุคคล ด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งงานด้านการสื่อสาร การตลาดและการเชื่อมต่อระบบด้านเสียง และข้อมูลเข้าด้วยกันจากนั้น ก็อาจจะพัฒนาไปสู่แนวคิดที่ว่า พนักงานทุกคนควรที่จะสามารถทำงานได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมาก รวมทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบเครือข่ายสารสนเทศ อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ในตอนท้ายนี้ก็คือ ระบบเครือข่ายสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพนั้นโดยมาก มักจะถูกติดตั้งไว้เฉพาะที่สำนักงานใหญ่ในส่วนกลางเท่านั้น ส่วนสำนักงานสาขาก็มักจะถูกมองข้ามไป ซึ่งที่จริงแล้ว องค์กรจะเสียประโยชน์อย่างมาก ถ้าระบบในสำนักงานสาขาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งจะทำให้พนักงานนั้นทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการกระจายเทคโนโลยีออกไปจากส่วนกลาง สู่สำนักงานสาขา สำหรับการเข้าถึงข้อมูล จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม