ICT กับโรงเรียนในฝัน

โดย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายแอ๊ดแวนซ์เทคโนโลยี

บทความจากซิสโก้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ฉบับวันที่ 5-7 มกราคม 2549 หน้า 47

ICT กับโรงเรียนในฝัน

โดย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายแอ๊ดแวนซ์เทคโนโลยี

ผมอยากนำเสนอบทความที่มีการนำ ICT ไปใช้งานในโรงเรียน และสถาบันการศึกษา รูปแบบการใช้งานบางอย่างที่กล่าวถึงนี้ ได้มีการนำมาใช้งานบ้างแล้วในบางสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในต่างประเทศ แต่แนวคิดโดยรวม ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับโรงเรียน ที่ยังไม่ได้นำไปใช้งานไม่มากก็น้อย

ขอเริ่มตั้งแต่วงจรการเรียนในช่วงอนุบาลก่อน ผมฝันอยากให้โรงเรียนอนุบาล มีการเรียนการสอนในรูปของ Virtual classroom หรือห้องเรียนเสมือนพร้อมๆไปกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งนี้เนื่องจากเด็กมักจะเรียนรู้จากสื่อ เช่น รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียงได้ดีกว่าตัวหนังสือ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์คือ ในกรณีของคลื่นยักษ์สึนามิ หากเด็กๆได้เห็นวิดีโอ ได้เห็นการอธิบายต้นกำเนิดของคลื่น และวิธีการรับมือเมื่อเกิดมหันตภัย ก็จะทำให้เขาเข้าใจปรากฎการณ์นี้ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และสามารถหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้

ผมยังได้ฝันต่อถึงความปลอดภัยของนักเรียนอนุบาลตัวน้อยๆ ที่ผู้ปกครองสามารถติดตาม และติดต่อด้วยกล้องวงจรปิด ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ขอให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ผู้ปกครองก็สามารถเห็นภาพเคลื่อนไหว และพูดคุยกับบุตรหลานของตัวเองได้ทุกที่ ซึ่งในความเป็นจริง เทคโนโลยี IP Surveillance นี้ก็เริ่มมีใช้กันบ้างแล้วในต่างประเทศ นี่คือประโยชน์ที่สำคัญยิ่ง ของโครงข่ายที่ใช้อินเทอร์เน็ตโปรโตคอล หรือภาษาไอพี (IP – Internet Protocol)

เมื่อถึงเวลาเข้าศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ผมก็ฝันอย่างให้โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ในด้านการเรียนที่พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดอิเล็คทรอนิคส์ หรือ eLibrary ที่เก็บหนังสือในรูปแบบดิจิตอล โดยมีการเชื่อมต่อกับแหล่งความรู้ทั่วโลก และมีการสแกนหนังสือลงในรูปแบบดิจิตอล (digital content) ที่พร้อมจะให้นักเรียนนักศึกษา โหลดข้อมูลลงเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คได้ทันที โดยไม่ต้องยืนรอคิวกับการบริการจากบรรณารักษ์ หรือแย่งกันยืมหนังสือที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ยังมีบริการไร้สายความเร็วสูง ที่สามารถเชื่อมโยงนักเรียนนักศึกษาไปยังฐานข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นผลสอบ ตารางการเรียนการสอน ฯลฯ โดยไม่ติดอยู่กับการจะต้องวิ่งหาจุดต่อสายสัญญาณ ทำให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูล ที่ต้องการค้นหาได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังรวมถึงการติดต่อ และปฏิสัมพันธ์กับครูหรืออาจารย์ที่ปรึกษา ผ่านระบบการประชุมทางวิดีโอ (video conferencing) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และสื่อสารได้ทั้งภาพ และเสียง ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการปรึกษากับเพื่อนนักเรียนนักศึกษา หรือจากผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถทำได้ โดยที่ระบบไม่ปิดกั้นเพียงเฉพาะแหล่งความรู้ภายในสถาบัน แต่มีการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาอื่น ที่ร่วมโครงการเดียวกันหรือแม้กระทั่ง โครงการระดับประเทศ เพื่อให้เด็กๆสามารถเข้าถึงทรัพยากร ที่มีคุณภาพ หรือประสบการณ์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่เป็นกบอยู่ในกะลาเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเหลื่อมล้ำในด้านวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษา ก็ควรจะลดลงตามไปด้วย ทำให้เราไม่ต้องมัวแต่แก่งแย่งกันเข้าเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเท่านั้น

นอกจากนี้ ระบบการเรียนการสอนยังมีการควบคุมด้วย Learning Management System เพื่อรักษาระดับ และคุณภาพของนักเรียนให้อยู่ในมาตรฐาน มีการแนะนำตลอดหลักสูตร ว่าควรหาความรู้จากแหล่งใดเพิ่มเติม แมีการตรวจวัดผลและความคืบหน้าเป็นระยะ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินผลตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อถึงเวลาสอบ ก็จะสามารถใช้ข้อสอบกลางในทุกระดับชั้น โดยที่ข้อสอบได้มีการสุ่มเลือกขึ้นมาจากศูนย์กลาง เสมือนเป็นคลังข้อมูลคำถาม เพื่อลดช่องว่างของความแตกต่าง ของการวัดผลจากแต่ละสถาบัน ทำให้เกณฑ์ในการวัดคะแนนเป็นกลาง และมีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น

ในช่วงระหว่างฝึกงาน ผมก็ฝันอยากให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน คือมีการประสานงานกันอย่างกลมกลืน และสอดคล้องระหว่างภาคต่างๆ เพื่อที่จะจัดหาบริษัทฯที่เหมาะสมให้กับนักศึกษา ได้ฝึกงานก่อนที่จะออกไปผจญกับชีวิตการทำงานจริงในอนาคต สุดท้าย เมื่อเขาเหล่านั้นพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้าสู่สังคมของการเป็นมืออาชีพ ก็มีโครงการ eAlumni ในการประกบคู่ระหว่างอุปสงค์ และอุปทานของตลาดแรงงาน เพื่อให้ได้บุคคลากรที่ตรงต่อความต้องการของบริษัทฯ และยังเป็นแหล่งเก็บฐานข้อมูล สำหรับการขยับขยายงานของเขาในอนาคตด้วย

ความฝันที่วาดไว้ข้าง ต้นนั้นจะประกอบขึ้นจากเทคโนโลยี ICT หลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูล และที่สำคัญคือระบบเครือข่ายความเร็วสูง รวมไปถึงเทคโนโลยีมูลค่าเพิ่มที่ได้จากเครือข่าย ทั้งในด้านการสื่อสารด้วย Internet Protocol (IP Communication) ระบบเครือข่ายไร้สาย ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบการจัดเก็บข้อมูลสมัยใหม่ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนต่างๆของเทคโนโลยี ICT ที่จะทำให้การเรียนการสอนในภายภาคหน้า มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลดีมากยิ่งขึ้น