เทคโนโลยีเวอร์ช่วลช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดย มงคล อัศวโกวิทกรณ์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมระบบ

บทความจากซิสโก้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ฉบับวันที่ 4-7 กันยายน 2548 หน้า 47

เมื่อเร็วๆ นี้ มร. จอห์น แชมเบอร์ส ประธานและซีอีโอ ของบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เมอร์คิวรี่ นิวส์ สหรัฐอเมริกา เรื่องกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาความเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่งที่สุดในโลก ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้วคือ ความสามารถในการจัดการ และควบคุมแง่มุมสำคัญๆ ของชีวิตในรูปแบบเสมือนจริง หรือเวอร์ช่วล (Virtual) จะส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินชีวิต ในแต่ละวันของคนเรา

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเข้าเรียนในห้องเรียนออนไลน์ การใช้แบบจำลองเพื่อเล่นสนุก การปรับปรุงทักษะด้านวิชาชีพ หรือการทำงานสำคัญๆ ให้เสร็จสิ้น ทุกวันนี้พวกเราหลายคน ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งที่จริงแล้ว โลกเสมือนจริงนับเป็นการพัฒนา ต่อยอดจากโลกเครือข่าย ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วชาวอเมริกันมักจะมีศักยภาพในการปรับตัว และเปลี่ยนแปลง โลกเสมือนจริงก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาตนเอง โดยอาศัยการศึกษา และการฝึกอบรม และทำให้รัฐบาลสามารถจัดหาบริการ ที่ดีกว่าให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง

เห็นได้ชัดว่าสังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่โลกเสมือนจริง ทั้งในแง่ของการทำงาน และการใช้ชีวิต ตัวอย่างเช่น นักศึกษากว่า 2 ล้านคนต่อปีลงทะเบียนในหลักสูตรออนไลน์ โดยมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ได้มอบปริญญาบัตร แก่นักศึกษากว่า 170,000 คนที่จบหลักสูตรการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นห้องเรียนเสมือนจริง นอกจากนั้นระบบเสมือนจริง ยังเปลี่ยนแปลงรูปการการรักษาพยาบาล โดยทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจสามารถตรวจสอบสภาพร่างกายของตนเอง ผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูงเชื่อมต่อระยะไกล

ระบบเสมือนจริงยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การฝึกทหารซึ่งในปัจจุบันมีการใช้สนามรบจำลอง หรือซิมูเลชั่น (Simulation) เพื่อเตรียมกำลังพลให้พร้อมสำหรับการออกรบในสนามรบที่แท้จริง และนอกจากนี้ ระบบเสมือนจริงยังเปิดโอกาศให้ชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านคน ร่วมเล่นเกมออนไลน์ในปัจจุบัน

ในอุตสาหกรรมต่าง การทำระบบเสมือนจริงกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต ตัวอย่างเช่น บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ได้ใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์ แทนการสร้างโมเดลของจริง เพื่อทดสอบ และทดลองเทคนิคต่างๆ ทางด้านการผลิต ทั้งนี้ เจเนอรัล มอเตอร์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 75 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีแรก ที่เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่เป็นดิจิตอล

ถึงแม้ว่าโลกเสมือนจริงได้ส่งผลกระทบเชิงลึกต่อชีวิตของเรา ตั้งแต่รูปแบบการทำงาน ไปจนถึงวิธีการเล่นเกม แต่สิ่งเหล่านี้เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ระบบการผลิตเสมือนจริงกำลังจะพัฒนาสู่อีกระดับ ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี RFID (ย่อมาจาก Radio Frequency Identification) ซึ่งจะแทนที่ระบบบาร์โค้ดในสินค้าต่างๆ RFID จะช่วยให้ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตสามารถตรวจสอบ และติดตามตำแหน่งสินค้าตลอดเส้นทาง ของระบบซัพพลายเชน แนวทางนี้จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ อย่างเป็นรูปธรรม

แต่อุตสาหกรรมที่ดูเหมือนว่าจะได้รับประโยชน์ จากระบบเสมือนจริงอย่างเต็มที่ก็คือ อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาล โดยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบสุขภาพ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วย โดยผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลตามความเหมาะสม แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ที่บ้าน สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ไปหาหมอบ่อยครั้งนัก เรื่องนี้อาจดูเหมือนไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณมีอาการป่วยเรื้อรัง เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ก็อาจทำให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไป กล่าวคือ แทนที่จะต้องไปพบแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเข้ารับการตรวจ ผู้ป่วยก็สามารถทำการตรวจด้วยตนเองที่บ้าน และส่งข้อมูลไปให้แพทย์ผ่านเครือข่ายความเร็วสูง เพื่อทำการวินิจฉัยที่โรงพยาบาล

เพื่อให้วิสัยทัศน์นี้เป็นรูปธรรมขึ้นมา จำเป็นต้องมีการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับ และจะต้องพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง ที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดในโลก ทั้งนี้สหรัฐฯเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาไปข้างหน้า ทั้งในส่วนของธุรกิจ อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ และระบบการศึกษา นอกจากนี้ ในระดับผู้กำหนดนโยบายจะต้องมองไปข้างหน้า ในเรื่องการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น VoIP หรือ Voice over Internet Protocol ก็จะก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ รวมถึงความสามารถในการเชื่อมต่อระยะไกล กับสำนักงานของคุณ การบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวด นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และปิดกั้นโอกาสของสหรัฐฯ ในการรั้งตำแหน่งผู้นำทางด้านเทคโนโลยี

เมื่อทศวรรษที่แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำงาน การปรับปรุงทักษะ หรือการใช้เวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าหากเรามองปัญหานี้ในระดับประเทศ เราก็จะสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับประเทศไทยสามารถนำกรณีที่ มร. จอห์น แชมเบอร์ส เขียนเตือนสหรัฐฯ มาศึกษาเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งการก้าวตามเทคโนโลยีทีละก้าว อาจไม่เพียงพอสำหรับประเทศไทย แต่จะต้องมีวิสัยทัศนและ กล้าลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นแนวทาง ของอนาคตอย่าแท้จริง เหมือนที่หลายคนมองว่าระบบเครือข่าย ในอนาคตจะเป็นยุคของไอพีเน็ตเวิร์ค (IP Network) นั่นเอง