"ซิสโก้ เทเลเพรสเซนส์" ประสบการณ์เสมือนจริงแบบ"หลายที่-เวลาเดียว"

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th

Matichon

หลายวันก่อนผมไปใช้เวลาอยู่พักใหญ่ที่สำนักงานทันสมัยของ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ ประเทศไทย ในกรุงเทพฯ เพื่อซึมซับประสบการณ์ใหม่ทางด้านเทคโนโลยีที่น่าทึ่ง ซึ่งว่ากันว่าจะกลายเป็น "เทรนด์" ใหม่ของโลกธุรกิจที่พยายามประคับประคองตัวฝ่าวิกฤตกันอยู่ในเวลานี้ทั่วโลก

ประสบการณ์ใหม่ที่ว่าก็คือ การร่วมใช้งาน "เทเลเพรสเซนส์" เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารทางไกลแบบเสมือนจริงที่เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทยกันในวันนั้น

ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมขนาดพอดีๆ สำหรับคนประมาณ 6-10 คน ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ "ดร.ที" คุณธัชพล โปษยานนท์ เพื่อสนทนารับทราบข้อมูลทางเทคนิคของ "เทเลเพรสเซนส์" จาก "ปีเตอร์" และ "วิลเลียมส์" ซึ่งนั่งสบายๆ อยู่ในห้องประชุมแบบเดียวกันที่สิงคโปร์ พร้อมๆ กันนั้นก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการใช้งาน "เทเลเพรสเซนส์" กับ "โซอี้" สาวสวยที่ประจำการอยู่ในสำนักงานของซิสโก้ ที่ฮ่องกง

เราแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนทนาซึ่งกันและกันอย่างออกรส ปีเตอร์ กับ โซอี้ ต่างสามารถ ทั้งยังมีโอกาสได้เซอร์ไพรส์มอบช่อดอกไม้วาเลนไทน์ล่วงหน้าให้ "โซอี้" อีกต่างหาก

เท่ากับว่า ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนั้น ผมไม่เพียงอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ยังอยู่ในสิงคโปร์และฮ่องกงพร้อมกันไปด้วยในเวลาเดียวกัน "เทเลเพรสเซนส์" จึงทลายกำแพงของ "สถานที่" และ "เวลา" ที่เป็นขีดจำกัดของผมลงได้ในห้วงเวลาดังกล่าว

แม้จะไม่ถึงกับเป็นการทำลายขีดจำกัดเรื่อง "สเปซ-ไทม์" ลงได้โดยสิ้นเชิง เช่นผมยังรู้สึกแปลกๆ อยู่ไม่น้อยที่ตัวเองมอบดอกไม้ให้สาวๆ ไป แต่แล้วก็ยังต้องวางมันไว้ข้างๆ ทั้งๆ ที่เธอตอบรับไปด้วยดี (ผมว่า โซอี้ ก็คงรู้สึกคันไม้คันมือไม่แพ้กัน) แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการต้องใช้เวลาตะเกียกตะกายข้ามช่องว่างระหว่างกรุงเทพฯกับฮ่องกงไปวางดอกไม้ลงในมือเธอแล้วละก็ "เทเลเพรสเซนส์" ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมในการสร้างความรู้สึก "เสมือนจริง" ให้เกิดขึ้นในขณะนั้นแล้ว

กล่าวโดยรวมแล้ว ประสบการณ์กับระบบเทเลเพรสเซนส์ของผมให้ความรู้สึก "เสมือนจริง" มากกว่าหลายๆ ครั้งที่เคยได้สัมผัสกับระบบการสื่อสารทางไกลหลายรูปแบบมาก่อนหน้านี้ หลายๆ ครั้งในห้วงเวลาดังกล่าว ทั้งๆ ที่รู้ แต่ผมกลับลืมไปว่าเราอยู่กันคนละประเทศไปชั่วครั้งชั่วคราว กลับรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งถกเรื่องนี้อยู่ในห้องประชุมเดียวกัน

นั่นเป็นเรื่องของ "ความรู้สึก" นะครับ เพราะจริงๆ แล้ว ปีเตอร์ ปรากฏอยู่ในจอพลาสมา ขนาด 65 นิ้ว 1 ในจำนวน 3 จอ และ โซอี้ ก็อยู่บนจอพลาสมาอีกจอเท่านั้นเอง ที่น่าทึ่งก็คือ อุปกรณ์แบ่งสัญญาณแบบมัลติแชนเนล, ระบบเสียงแบบมีทิศทาง, ชุดไมโครโฟน, ระบบแสง, วงจรถอดรหัสสัญญาณวิดีโอความละเอียดสูงระดับ ไฮ-เดฟ (1,080 พิกเซล) ต่างหากที่สร้างความรู้สึกเสมือนจริงให้เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามเวลาจริงของพวกเราใน 3 ประเทศ

ยอมรับว่า ผมฟังคุณปีเตอร์ไม่ค่อยได้ศัพท์เท่าใดนัก เพราะในใจมัวแต่คิดไปถึงเบื้องหลังการทำงานที่สลับซับซ้อน และมีศักยภาพสูงยิ่งของระบบนี้ ลองไล่เรียงดูนะครับว่าต้องใช้ตรรกะซับซ้อนเพียงใดเพื่อจัดเรียง ประมวลผลและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภาพและเสียงจากต่างสถานที่กันให้ออกมาเหมือนจริงราวกับนั่งสนทนากันตรงหน้า

ลำพังการทำอย่างที่ว่าเพียงแค่ 2 จุด คือ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งให้ได้สมบูรณ์แบบในระดับนี้ก็ยากเย็นไม่น้อยแล้ว แต่ซิสโก้ สามารถทำได้มากถึง 48 จุด หรือ 48 สถานที่เชื่อมโยงเข้าหากันในเวลาเดียว! น่าทึ่งครับ

ระบบประมวลผลที่เรียกว่า "ซิสโก้ ยูนิฟายด์ คอลแมเนเจอร์" คือตัวที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งภาพและเสียงในห้องประชุมแต่ละแห่งครับ มันทำหน้าที่สั่งการ และรวบรวมผลการทำงานของอุปกรณ์ทุกอย่าง ซึ่งรวมถึง ไอพีโฟน วอยซ์โอเวอร์ไอพี เกตเวย์ และอุปกรณ์ประมวลผลสื่อ (มีเดีย โปรเซสซิ่ง ดีไวซ์) ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดจากห้องประชุมในแต่ละแห่งให้กับอีกองค์ประกอบสำคัญของเทเลเพรสเซนส์ คือ "ซิสโก้ เทเลเพรสเซนส์ แมเนเจอร์" ที่ทำงานรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ ห้องประชุมแล้วเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอแบบเรียลไทม์ไปยังห้องประชุมที่กำหนด

ซิสโก้ ติดตั้ง "เทเลเพรสเซนส์" ให้กับสำนักงานของตัวเองทั่วโลกใน 131 เมืองใหญ่ของ 40 ประเทศ มาแล้วรวม 321 แห่งครับ เห็นผลทันตา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแล้วถึง 236 ล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่นับประโยชน์สำคัญอื่นๆ ที่ตามมาอีกมาก เช่น ผลิตภาพของพนักงานที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง หรือสุขภาพจิตของพนักงานที่สามารถใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ฯลฯ

ผมเห็นด้วยกับ ดร.ธัชพล ครับ ว่าระบบนี้เหมาะกับธุรกิจหลายอย่างในเมืองไทยที่มีสาขากระจายกันอยู่ทั่วประเทศ หรืออยู่ในหลายประเทศ ธุรกิจโรงแรมที่ใช้ห้อง "เทเลเพรสเซนส์" แทนห้องประชุมแบบเดิมๆ ก็อาจเรียกลูกค้าได้มากขึ้น (เครือข่ายโรงแรมระดับโลกอย่างน้อย 2 เครือข่าย กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ครับ) หรือแม้กระทั่งจะทำควบคู่ไปกับการให้บริการ "เช่าใช้" ก็ดูดีมีอนาคตทีเดียว

"ดร.ที" บอกว่า สำนักวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเชื่อว่า เทเลเพรสเซนส์ จะเข้ามาทดแทนการใช้ที่นั่งของเครื่องบินพาณิชย์ราว 2.1 ล้านที่นั่งต่อปี ในเร็วๆ นี้ นั่นเทียบเท่ากับมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ต่อปีนะครับ

แต่ศักยภาพของ "เทเลเพรสเซนส์" ดูเหมือนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงธุรกิจ มันยังประยุกต์ใช้ได้อีกหลากหลายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการทำ "ไลฟ์ พรีเซนเทชั่น" จากจุดเดียวหรือหลายจุดเข้าด้วยกัน วงการแพทย์ วงการศึกษา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเองก็อาจลงทุนเรื่องนี้เพื่อ "ลดช่องว่างทางดิจิตอล" ให้กับสังคมส่วนใหญ่ของประเทศยังได้เลย

ต้องยอมรับละครับว่า ซิสโก้ ไม่เพียงประยุกต์ใช้และบูรณาการระบบสื่อสารทางไกลเข้าด้วยกันอย่างทรงประสิทธิภาพเท่านั้น

ยังยกคุณประโยชน์ของมันขึ้นสู่ระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอีกต่างหาก!