วิกฤต 3G-ไวแม็กซ์ มนุษย์ไอทีขาดแคลน

Manager 360°

*เชื่อหรือไม่ มนุษย์ไอทีด้านเน็ตเวิร์กขาดแคลนสวนกระแสคนตกงาน
*จุดวิกฤตหากอนุมัติไลเซนต์ 3G-ไวแม็กซ์ ต้องอิมพอร์ตคนต่างชาติ
*ต้นเหตุสำคัญการเรียนการสอนไม่ตรงจุดความต้องการตลาด
*รัฐ-เอกชน ต้องร่วมมือผลักดันสร้างแรงบันดาลใจพร้อมอัดเงินหนุน

ช่วงที่ทุกวงการทุกธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลก การตกงานของบรรดามนุษย์เงินเดือนเป็นสิ่งที่หลายบริษัทนำมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในภาวะที่คนทำงานกำลังกลัวการตกงานนั้น มีอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังอยู่ในช่วงแคลนขาดและกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตการขาดแคลนคนอย่างหนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สวนกับกระแสที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

อาชีพที่กำลังจะขาดแคลนอย่างหนัก คือผู้ที่มีความรู้ทางด้านไอที โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเน็ตเวิร์ก ที่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นยุคเน็ตเวิร์กคอนเวอร์เจนที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลากหลายองค์กรธุรกิจ และน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรนั้น สามารถพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคต

"ปัจจุบันความต้องการคนไอทีทางด้านเน็ตเวิร์กมีมากกว่า 24,000 คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 25% แต่ขณะนี้เด็กที่จบและมีความรู้ทางด้านนี้มีไม่เพียงพอ เฉลี่ยแล้วขาดแคลนปีละถึง 8,000 คน"

เป็นคำกล่าวของ ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และว่า ที่ผ่านมาซิสโก้ได้มีการจัดโครงการ Networking Academy ขึ้นทุกปี สามารถสร้างบุคลากรด้านเน็ตเวิร์กเข้าสู่ตลาดมาแล้วกว่า 20,000 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือเรื่องของเน็ตเวิร์กได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหรือการทำงานก็ตาม ยิ่งเทคโนโลยีทางด้านเน็ตเวิร์กมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางด้านนี้ก็ต้องมีการพัฒนาความรู้ให้ไล่ตามทัน หรือต้องมีบุคลากรใหม่เกิดขึ้นเข้าสู่ตลาดให้เพียงพอ

ในภาวะที่บุคลากรทางด้านเน็ตเวิร์กกำลังขาดแคลน และทวีความรุนแรง จนคาดว่าในปี 2552 นี้บุคลากรทางด้านนี้จะขาดแคลนมากกว่าหมื่นคน และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกหลายเท่าหากเกิดการอนุมัติไลเซนต์ 3G และไวแม็กซ์

"จุดวิกฤตที่สุดน่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการอนุมัติไลเซนต์ 3G และไวแม็กซ์" คือคำยืนยันของ ธัชพล ซึ่งมองว่าความต้องการคนไอทีทางด้านเน็ตเวิร์กในองค์กรที่ได้รับไลเซนต์จะต้องมีการแย่งตัวกันอย่างแน่นอน เมื่อวันนั้นมาถึงบุคลากรด้านนี้ไม่เพียงพออย่างหนัก จนทำให้ต้องมีการนำเข้าคนที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน หากเกิดเหตุการณ์นั้นจริง ย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญของคนในประเทศที่จะได้รับงานที่ดีและมีอนาคต

ธัชพล กล่าวว่าวันนี้ต้องมีการปรับให้เด็กรับรู้ถึงความต้องการของตลาดทางด้านนี้ มีการส่งเสริมการเรียนให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสถาบันการศึกษาต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ทันกับเทคโนโลยีทางด้านเน็ตเวิร์กที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และมองถึงอนาคตของเทคโนโลยีที่กำลังจะมา

"เราต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับคนที่สนใจทางด้านไอทีเน็ตเวิร์ก การจัดหาหลักสูตรที่พร้อมรองรับการเรียนการสอนยุคใหม่ และการมีงบสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง"

ในส่วนของซิสโก้เอง จะมีการขยายโครงการ Networking Academy จากที่ปัจจุบันได้สนับสนุนหลักสูตรและอุปกรณ์ให้กับ 62 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะขยายเป็น 100 มหาวิทยาลัย รวมทั้งลงไปในระดับอาชีวศึกษาภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถผลิตบุคลากรทางด้านได้เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 5,000 คนภายใน 2 ปีนี้

ปั้นเด็กเป็นดาว สร้างแรงบันดาลใจ

นอกจากโครงการ Networking Academy ที่ซิสโก้ผลักดันสร้างบุคลากรทางด้านเน็ตเวิร์กมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีอีกหนึ่งโครงการที่น่าจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนให้มาสนใจเรียนรู้ไอทีเน็ตเวิร์กกันมากขึ้น หลังจากที่กรมพัฒนาฝืมือแรงงาน ได้จับมือร่วมกับมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) และซิสโก้ จัดแข่ง National Skills Competition in Telecom and IT/PC Network 2009 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดฝีมือช่วงโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์&เน็ตเวิร์ก เพื่อลงแข่งขัน WorldSkills สาขาช่างโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์&เน็ตเวิร์ก ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2552 นี้ ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งประเทศไทยส่งเข้าร่วมเป็นครั้งแรก

"โครงการนี้จะปั้นดาวให้เกิดขึ้นในวงการเน็ตเวิร์ก และจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนหันมาสนใจเรียนไอทีเน็ตเวิร์กกันมากขึ้น" ธัชพลกล่าว

ในการแข่งขัน แข่ง National Skills Competition in Telecom and IT/PC Network 2009 ได้เปิดกว้างให้ผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมทดสอบแข่งขัน เพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานเยาวชนนานาชาติ โดยทางซิสโก้จะสนับสนุนการฝึกอบรมทบทวนความรู้ด้านเน็ตเวิร์ก ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ มสวท.จะร่วมกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญรายอื่นมาช่วยเสริมทักษะความรู้ในหัวข้ออื่นๆ ให้กับตัวแทนประเทศไทย

ทั้งนี้ซิสโก้ เชื่อมั่นว่าเน็ตเวิร์กได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน จึงจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญมารองรับการขยายตัวของเน็ตเวิร์ก ในการสนับสนุนโครงการแข่งขันครั้งนี้ น่าจะเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพในระดับนานาชาติ อีกทั้งเป็นการพัฒนาแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดอีกทางหนึ่ง จนสร้างกระแสตื่นตัวให้เห็นความสำคัญของการสร้างบุคลากรด้านเน็ตเวิร์ก

ด้าน นคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่าจากอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมไอที ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะในด้านนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่าน โดยเฉพาะในด้านโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์ก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายและโครงข่ายข้อมูลทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านนี้ และได้เร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งโครงการแข่งขัน แข่ง National Skills Competition in Telecom and IT/PC Network 2009 ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดบุคลากรคุณภาพทางด้านเน็ตเวิร์ก